นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “Thailand Cross Border Trade & Investment Conference” หรือ การประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากการที่ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณะรัฐประชาชนจีนเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง จึงได้เชิญชวนให้ธนาคารมาจัดงานในรูปแบบของการเจรจาจับคู่ธุรกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยจีน มาร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจากจีนใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งจะช่วยหู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาด้านนวัตกรรม และนำพาประเทศไทยก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0
โดยธนาคารแห่งประเทศจีน เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีบริษัทจีนจากทั่วโลกเป็นลูกค้า กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นจึงเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกันของนักธุรกิจจากประเทศจีนกับนักธุรกิจไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ของทั้ง2ประเทศ ซึ่งเป็นพลังสำคัญของความร่วมมือกันสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและจีน
“ธนาคารได้นำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากประเทศจีนเดินทางมาเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย ซึ่งในวันนี้มีผู้ร่วมเจรจาจับคู่รวมกว่า 1,000 คน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้ง2ประเทศ โดยเฉพาะ SMEs เชื่อมโยงให้ภาคธุรกิจ2ประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเราได้เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจะเป็นศูนยกลางการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค และเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนโยบาย One Belt One Road ของจีน”
นับตั้งแต่ปี 2014จีนเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย และในปี 2016 จีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดลำดับที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 81 โครการ รวมมูลค่ากว่า 52,700 ล้านบาท
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)เปิดเผยว่า นอกจากการมาจับคู่ธุรกิจและดูลู่ทางการลงทุนในไทยแล้ว บีโอไอยังจะนำคณะของธนาคารแห่งประเทศจีนไปเยี่ยมชมพื้นที่ EEC และรับฟังนโยบายส่งเสริมการลทุน ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ
นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครโอซาก้า (บีโอไอโอซาก้า) ยังได้นำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 100 ราย จากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ พลังงานแสงอาทิตย์และภาคขนส่ง เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายการลงทุนและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยมีสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพเข้าร่วม
นอกจากนั้นยังรับฟังรายละเอียดของนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะนักลงทุนจากโอซาก้า ได้ลงพื้นที่สำรวจโอกาสการลงทุนในภาคตะวันออก โดยให้ความสนใจ กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC )เป็นพิเศษ เพราะมีความโดดเด่นด้านภูมิศาสตร์และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพจากการสนับสนุนของรัฐบาล
ในปี 2559 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 264 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 57,466 ล้านบาท