มาตรการด้านภาษี
สิงคโปร์ได้นำระบบการจำแนกพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ปี 2561 ((Singapore
Trade Classification,
Customs and
Excise Duties (STCCED) 2018) มาใช้แทน STCCED 2012 โดย STCCED 2018 ได้นำระบบ
The ASEAN
Harmonized Tariff Nomenclature (AHTN) 2017)
มาใช้ในระบบดังกล่าวด้วย
สำหรับระบบ AHTN 2017 ได้รับการพัฒนาร่วมกันจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีพื้นฐานในการนำ the 6-digit
Harmonized Commodity Description และ Coding System
Nomenclature (HS) ของ World Customs
Organization (WTO) และ The 233
sets of 2017 amendments to the HS Nomenclature
มาใช้ในระบบดังกล่าว
พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (HS Codes) ในระบบ AHTN 2017
เป็นการใช้ตัวเลข 8 หลัก (the 8-digit
level) สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดย AHTN 2017 เป็นการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ
สมาชิกอาเซียน เพื่อการจำแนกประเภทสินค้าได้ถูกต้องและเป็นระบบเดียวกัน
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวถือเป็น
สัญลักษณ์ที่สำคัญของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับภาษีในการทำธุรกิจในสิงคโปร์
แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
1. ภาษีศุลกากร 0% (ยกเว้นเบียร์
$16 ต่อลิตรแอลกอฮอล์)
2. ภาษี GST (Good & Service Tax)
7% และจะเปลี่ยนเป็นร้อยละ 9 ในปี 2564
3. ภาษีสรรพสามิต: บุหรี่
แอลกอฮอล์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม
4. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 0-17%
5. ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 0-20%
อย่างไรก็ตาม ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and
Services Tax: GST) มีอัตราร้อยละ 7 สำหรับการนำเข้าสินค้าและการผลิตภายในประเทศ
และร้อยละ 0 สำหรับการส่งออกสินค้าและการให้บริการระหว่างประเทศ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับบริการบางสาขา
ได้แก่ บริการการเงิน
การขาย/เช่าซื้อสินทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยรวมถึงทองและโลหะมีค่า
มาตรการที่มิใช่ภาษี
1. การห้ามนำเข้า
สินค้าที่ถูกห้ามนำเข้าส่วนใหญ่เนื่องมาจากเหตุผลด้านสุขภาพ
ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมหรือเป็นรายการสินค้าที่เข้าข่ายความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ
รายการสินค้าดังกล่าว เช่น หมากฝรั่ง (ยกเว้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการแพทย์)
รถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุมากกว่า 3 ปี
(ยกเว้นรถยนต์โบราณและรถคลาสสิก) รวมถึงอาวุธ และวัสดุที่เกี่ยวข้อง
2. การขออนุญาตนำเข้า
สินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบอัตโนมัติ
(automatic licensing) และแบบไม่อัตโนมัติ (non-automatic
licensing) โดยนำมาใช้กับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ
ตัวย่างสินค้าที่เข้าข่ายการขออนุญาตนำเข้าแบบอัตโนมัติ เช่น ผลไม้และผักสด พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
อาหารแปรรูป ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฯลฯ ส่วนสินค้าที่เข้าข่ายการขออนุญาตนำเข้าแบบไม่อัตโนมัติ
เช่น เนื้อสัตว์ พืชและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ สัตว์มีชีวิต (รวมถึงปลาสวยงาม
สุกร โค กระบือ) ไข่ไก่ นมผง ข้าว ฯลฯ
สำหรับการขอใบอนุญาตนำเข้าข้าว อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมราคา
(The Price Control Act and the Price
Control (Rice) Order 1990) โดยมีหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต คือ International
Enterprise Singapore (IE Singapore) ประกอบด้วย
ใบอนุญาตนำเข้าข้าวประเภทต่างๆ ได้แก่
- Stockpile license สำหรับการนำเข้าข้าวเพื่อจำหน่ายสำหรับการบริโภคภายในประเทศ
โดยมีเงื่อนไขว่าผู้นำเข้าต้องเก็บรักษาข้าวไว้ในปริมาณเท่ากับปริมาณการนำเข้าข้าว
2 เดือน (ปริมาณนำเข้าข้าวรายเดือนขั้นต่ำ คือ 50 ตัน) และต้องเก็บข้าวไว้ในโกดังที่รัฐบาลกำหนด
ส่วนข้าวปริมาณที่เหลือสามารถขายโดยตรงให้แก่ผู้ค้าส่งจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้นำเข้าต้องชดเชยสต๊อกข้าวด้วยข้าวล็อตใหม่อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้ข้าวที่เก็บในสต๊อกไม่มีอายุนานเกินกว่า 1 ปี
- Non-stockpile rice license สำหรับการนำเข้าข้าวเหนียว
ข้าวกล้อง ข้าวแดง และข้าวป่า
- ใบอนุญาตนำเข้าข้าวเพื่อการส่งออกต่อ (re-export license) โดยต้องเก็บรักษาข้าวไว้ในเขตปลอดภาษี (free-trade zone: FTZ)
- ใบอนุญาตสำหรับผู้ผลิต (manufacturer
license) สำหรับการนำเข้าข้าวหัก 100% ของผู้ผลิต
เพื่อใช้ในการผลิตเท่านั้น และไม่สามารถนำมาจำหน่ายภายในประเทศ
- ใบอนุญาตค้าส่ง (wholesale
license) โดยผู้ได้รับใบอนุญาตอาจไม่ต้องนำเข้าข้าวเอง แต่เป็นผู้ทำการค้าส่งข้าวทุกประเภท
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตนำเข้าข้าวทุกประเภท
คือ 50 เหรียญสิงคโปร์ โดยสามารถยื่นผ่านทางออนไลน์ ใช้เวลาดำเนินการภายใน 3 วัน
มาตรการเยียวยาทางการค้า
(1) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-dumping
and countervailing measures)
ปัจจุบัน สิงคโปร์ไม่ได้ใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศใด
ทั้งนี้ มาตรการที่ใช้ล่าสุดได้สิ้นสุดลงในปี 2546 โดยมีกฎหมายที่กำกับดูแล คือ The Countervailing and Anti-Dumping
Duties Act
(2) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguards)
ปัจจุบัน สิงคโปร์ยังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลมาตรการนี้
ทั้งยังไม่มีแผนที่จะออกกฎหมายดังกล่าว